ประวัติศาสตร์
ไม่อาจเกิดขึ้นได้
หากไร้ซึ้ง
การบันทึก
อริสโตเติล (Aristotle) นักปราชญ์ชาวกรีก กล่าวว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ทั้งนี้เขาเชื่อว่ามนุษย์โดยสภาพธรรมชาติจะต้องมีชีวิตอยู่ร่วมกันกับบุคคลอื่นๆ ติดต่อสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างอิสระได้เพียงลำพัง จึงต้องมีการสื่อสาร แสดงออกซึ่งความรู้สึกนึกคิดของตนให้ผู้อื่นรับรู้ด้วยการแสดงท่าทาง การเปล่งเสียง การวาดภาพ การสร้างสัญลักษณ์ เป็นต้น
ย้อนไปในยุคดึกดำบรรพ์ที่มนุยษ์อาศัยอยู่ตามป่าเขา ถ้ำเพิงเชิงผา อพยพย้ายถิ่นฐานไปตามฝูงสัวต์ในแต่ละฤดูกาลที่ผันผ่าน เครื่องมือเครื่องใช้ในการดำรงชีวิตส่วนใหญ่มักทำจากวัสดุหาง่ายๆ ใกล้ตัว และเมื่อยามเดินทางไกลไปในป่าทึบ มนุษย์ใช้การกำหนดเครื่องหมายต่างๆ ขึ้น เพื่อช่วยในการจดจำเส้นทาง เช่น วางก้อนหินให้ส่วนแหลมหันไปตามทิศทางที่ต้องการ หรือ ขีดเขียนเครื่องหมายตามต้นไม้และกิ่งไม้ และเมื่อมนุษย์เริ่มมีสมบัติส่วนตนอันได้แก่ สัตว์ต่างๆ จึงเริ่มทำสัญลักษณ์ของความเป็นเจ้าของ ไม่ว่าจะเป็นการนำเชือกมาผูกเป็นปม หรือใช้วิธีบากต้นไม้เป็นบั้งเพื่อนับจำนวนสัตว์ที่ครอบครอง
อย่างไรก็ตาม การทำสัญลักษณ์เหล่านี้คงยังไม่เพียงพอที่จะใช้บันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้เป็นที่เข้าใจอย่างแพร่หลาย อีกทั้งเมื่อกาลเวลาผ่านไป ความทรงจำก็รางเลือน มนุษย์จึงต้องคิดหาสารพัดวิธีเพื่อบันทึกข้อมูลสำคัญในรูปแบบที่แตกต่างกัน
แฝงนัยความหมาย…ลวดลายบนกระดูกสัตว์
มนุษย์ยุคหินเก่าเริ่มบันทึกเรื่องราวเพื่อสื่อความหมายด้วยการขีดเขียนลวดลายและสัญลักษณ์ลงบนกระดูก เขาสัตว์ เปลือกหอยและงาช้าง แม้ว่าในระยะแรกจะมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อใช้เตือนความจำ ทำรอยบากเพื่อบันทึกการนับหรือทำขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องประดับ ในบางชนเผ่ากระดูกและเขาสัตว์เหล่านี้ได้กลายมาเป็นของขวัญที่มอบให้แก่ญาติสนิทมิตรสหาย และเป็นของกำนัลหรือแลกเปลี่ยนระหว่างเผ่าอันมีนัยสำคัญทางการเมืองว่าด้วยการเจริญสัมพันธไมตรีอันดีต่อกัน สร้างความสงบผาสุกของการอยู่ร่วมกันในชุมชน
กระดูกสัตว์ส่วนที่แบนหรือกระดองเต่า มีความหมายมากกว่ากระดูกสัตว์ธรรมดา เมื่อชาวจีนโบราณได้ใช้เป็นวัสดุเพื่อการบันทึกภาพหรือสัญลักษณ์แทนความหมายในราว 1,800 1,200 ปีก่อนคริสตกาล เพื่อสื่อสารกับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วหรือเป็นจารึกที่พยายามทำนายอนาคต อักษรที่จารบนกระดูกสัตว์นี้นับเป็นยุคต้นของศิลปะการเขียนอักษรจีน ที่มีชื่อเรียกว่า เจี่ยกู่เหวิน ที่อักขระบางส่วนยังคงมีลักษณะเป็นอักษรภาพอยู่ ตัวอักษรดังกล่าวมีความสมบูรณ์และเป็นระบบ ซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาอักษรจีนในเวลาต่อมา
บันทึกมนุษย์ถ้ำ
จาการขูดขีดเส้นสาย สร้างลวดลายบนกระดูกและเขาสัตว์ในเวลาต่อมามนุษย์ก็เรียนรู้ที่จะบันทึกเรื่องราวในรูปแบบของการเขียนเป็นภาพ จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ปรากฏบนผนังถ้ำที่มีอายุมากถึง 17,000 – 12,000 ปีก่อนคริสตกาล ได้แก่ ถ้ำลาสโควส์ (Lascaux) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศษ และถ้ำอัลตามิรา (Altamira)ในประเทศสเปน พบสัญลักษณ์ภาพ (Pictograph) สัตว์ต่างๆ ได้แก่ ม้า วัว กวาง และสัตว์บางชนิดที่ปัจจุบันได้สูญพันธุ์ไปแล้ว การวาดภาพบนผนังถ้ำทำด้วยวิธีการอันหลากหลาย ท่ามกลางความมืดทึบในโพรงถ้ำ บางชิ้นเขียนด้วยสีที่ได้จากวัสดุธรรมชาติ เช่น สีดำจากถ่าน หรือเขม่าไฟ สีแดงและเหลืองจากแร่ธาตุ ผสมด้วยไขมันสัตว์และยางไม้ บางภาพใช้การขุดขีดหรือแกะตอกเพื่อให้เป็นร่องรอยด้วยเส้นสายเรียบง่าย แต่แฝงไว้ด้วยความแม่นยำ
ด้วยวิถีของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศสตร์มีลักษณะเป็นชุมชนที่ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการล่าสัตว์ มีความเชื่อในพลังเหนือธรรมชาติจึงสันนิษฐานได้ว่า ภาพที่ปรากฏตามผนังถ้ำนั้นวาดขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการสื่อสารกันในหมู่เหล่า หรือใช้ประกอบพิธีกรรมมากกว่าที่ตั้งใจสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะ รอยแทงด้วยหอกหินที่พบตามลำตัวของสัตว์ต่างๆ ในภาพอาจะเป็นหนึ่งในพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้การล่าประสบผลสำเร็จหรือร่องรอยสัญลักษณ์ภาพเหล่านี้อาจเป็นการสอนวิธีการล่าให้กับคนรุ่นต่อไป
นอกจากการสร้างร่องรอยด้วยการขูดขีดแล้ว นักโบราณคดียังค้นพบการทำภาพพิมพ์อย่างง่ายของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ด้วยการใช้มือวางทาบบนผนังถ้ำ แล้วพ่นหรือเป่าสีลงไปคล้ายกับการทำภาพพิมพ์แบบ Stencil ทำให้ได้ภาพรูปฝ่ามือปรากฏบนผนังถ้ำอย่างชัดเจน
ภาพวาดบนผนังถ้ำนั้นพบได้ในหลายภูมิภาคของโลก ทั้งในทวีปยุโรป อเมริกาใต้ ออสเตรเลีย และเอเชีย ส่วนในประเทศไทยก็พบหลักฐานในยุคก่อนประวัติศาสตร์เหล่านี้ที่จังหวัดกาญจนบุรี อุดรธานี และอุบลราชธานี เป็นต้น
อ้างอิงรูปภาพจาก : https://sites.google.com/site/krulek0013/hnwy-thi-1-khxmul-sarsnthes-laea-kar-kae-payha/5-kar-cad-keb-khxmul