ท่ามกลางความร้อนแล้งบนดินแดนแอฟริกาตอนเหนือมีเพียงสองฝั่งและสวมเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์เท่านั้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ ชาวอียิปต์โบราณจึงเลือกลงหลักปักฐาน สร้างบ้านเรือนอยู่อาศัย ด้วยสภาพอากาศอันชุ่มชื่น พื้นดินอันอุดม และแสงแดดที่แผดจ้าตลอดปีที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของพืชท้องถิ่นชนิดหนึ่ง นั้นก็คือ ต้นกก ไซเพอรัส พาไพรัส (Cyperus Papyrus) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของการผลิตแผ่นพาไพรัส สินค้าส่งออกอันเลื่องชื่อของอียิปต์ เพื่อใช้สำหรับการบันทึก ก่อให้เกิดก้าวสำคัญของการสื่อสารในเวลาต่อมา
กล่าวได้ว่าชาวอียิปต์เป็นชนชาติแรกที่เปิดหน้าประวัติศาสตร์การประดิษฐ์อักษรของตนในช่วงเวลาเดียวกับที่ชาวสุเมเรียนคิดอักษรคูนิฟอร์ม
ชาวอียิปต์โบราณเป็นผู้คิดระบบการเขียนที่เรียกว่าเฮียโรกลิฟิค (Hieroglyphic) ซึ่งมีความหมายว่า “รอยสลักอันศักดิ์สิทธิ์”
ชาวอียิปต์สร้างรูปแบบตัวอักษรที่แทนความรู้สึกนึกคิดต่างๆ (Ideograph) โดยการผสมคำและภาพเข้าด้วยกันเพื่อสื่อสารข้อมูล และใช้อักษรดังกล่าวสำหรับการจารึกทั้งบนหิน ไม้ และแผ่นพาไพรัส เพื่อบันทึกเรื่องราวทางศาสนา ตำราการแพทย์ โหราศาสตร์ เอกสารทางราชการ การจัดทำบัญชีและพิธีกรรมต่างๆ
ชาวอียิปต์มีความเชื่อว่าวิญญาณเป็นสิ่งที่ไม่สิ้นสูญ และจะกลับเข้าร่างให้ฟื้นคืนชีพได้อีกครั้ง จึงมีการรักษาร่างกายไม่ให้เน่าเปื่อยผุพัง ตลอดจนมีความเชื่ออย่างแรงกล้าที่เกี่ยวกับชีวิตหลังความตายและต่างหวังที่จะมีชีวิตที่เป็นสุขบนสรวงสวรรค์
บันทึกบนแผ่นพาไพรัสได้รับความนิยมแพร่หลายในราว 1,580 ปีก่อนคริสตกาล แม้คนธรรมดาสามัญที่จะจัดหาพาไพรัสแบบเรียบๆ ติดตัวไว้เพื่อการเดินทางไปสู่ชีวิตหลังความตาย ดังจะพบเรื่องราวนี้ได้ในคัมภีร์มรณะ (Book of the Dead) ที่มีคุณภาพแตกต่างหลากหลายตามระดับราคา โดยทั่วไปจะมีคาถาอาคมป้องกันผู้ตายระหว่างอยู่ในหลุมศพมีคำแนะนำในเรื่องการปฏิบัติตนในขณะที่วิญญาณถูกเหล่าเทพเจ้าซักถามและพิพากษาว่าใครจะได้ไปสู่สรวงสวรรค์ โดยมีเทพโอซิริส (Osiris) เป็นประธาน เมื่อเสร็จสิ้นคำให้การเทพอานูบิส (Arnubis) จะนำหัวใจไปชั่ง หากหัวใจเบากว่าขนนกก็ถือว่าเป็นคนดี เดินทางสู่สวรรค์ได้
กาเอียส พลินิอัส เชคันดัส (Gaius Plinius Secundus) นักปราชญ์ชาวโรมันได้เขียนบรรยายการทำแผ่นพาไพรัสไว้ในสารานุกรมธรรมชาติวิทยา (Naturalis Historia) ว่า ให้นำลำต้นของกกมาลอกเปลือกออก เอาเฉพาะเยื่อสีขาวมาวางเรียงในแนวนอนและแนวตั้งซ้อนกันสองชั้น จากนั้นจึงอัดหรือทุบให้เรียบ เยื่อของต้นกกจะสมานติดกันด้วยสารเหนียวในตัว นำไปตากแดดให้แห้ง และจึงขัดผิวด้วยหินหรืองาช้าง แผ่นพาไพรัสเหล่านี้มีหน้าแคบ แต่ยาวได้ไม่จำกัด และเขียนได้เพียงด้านเดียว อุปกรณ์ในการเขียนคือต้นกกที่ถูกทุบส่วนปลายให้เป็นฝอยเหมือนพู่กันหรือบากปลายให้สามารถอุ้มหมึกได้ ส่วนหมึกที่ใช้เขียนก็ทำจากถ่านบดละเอียดผสมกับกาวที่ทำจากยางไม้ เมื่อบันทึกเรียบร้อยแล้ว แผ่นพาไพรัสจะถูกม้วนเก็บในกระบอกโลหะหรือดินเผา
อย่างไรก็ตาม พาไพรัสที่ได้ยังไม่ถือว่าเป็นกระดาษ เพราะกรรมวิธีการทำนั้นใช้วิธีต่อเนื้อเยื่อซ้อนเข้าด้วยกันทำให้แผ่นพาไพรัสไม่ได้ต่อเป็นเนื้อเดียวกันอย่างแท้จริง
คุณภาพของแผ่นพาไพรัสมีหลายระดับตามความสำคัญของสิ่งที่ถูกบันทึก ซึ่งมีตั้งแต่ประกาศของราชสำนัก การลงบัญชีรายวัน ศีลธรรมจรรยา การปกครอง ไปจนถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอียิปต์ และที่สำคัญคือการเขียนบันทึกทางศาสนาด้วยลายมือหวัดๆ ของนักบวชด้วยปากกาที่ทำจากต้นกก ทำให้เกิดการดัดแปลงอักษรเฮียโรกลิฟิคบางตัวให้เขียนสะดวก แลดูกระชับขึ้น จนวิวัฒนาการมาเป็นอักษรรูปแบบใหม่เรียกว่าอักษรไฮราติค (Hieratic)
จนกระทั่งราว 800 ปีก่อนคริสตกาล เมื่อการเขียนหนังสือเป็นวิธีสื่อสารที่นิยมสำหรับคนทั่วไป อักษรโฮราตึคจึงถูกดัดแปลงเป็นอักษรเดโมติค (Demotic) ที่สามารถเขียนได้สะดวกและเร็วขึ้น รวมถึงทิ้งเค้าเดิมของตัวอักษรเฮียโรกลิฟิคโดยสิ้นเชิง และใช้งานจนถึงยุคที่โรมันเรืองอำนาจในอียิปต์ อักษรเดโมติคเป็นอักษรที่ใช้กันทั่วไปในชีวิตประจำวันไปจนถึงการค้าพาณิชย์ ในขณะที่อักษรฮียโรกลิฟิคและไฮราติคก็ยังคงใช้สำหรับการจารึกเรื่องราวทางศาสนาดังเดิม
การสอดประสานระหว่างภาพและตัวอักษรบนแผ่นพาไพรัสของชาวอียิปต์ค่อนข้างจะมีแบบแผนการบันทึกที่ชัดเจน ทิศทางการเขียนมีทั้งตามแนวนอนซ้ายไปขวา และขวาไปซ้าย แนวตั้งจากบนลงล่างการบอกทิศทางสังเกตได้จากการหันหน้าของรูปสัตว์หรือรูปคนที่จะหันหน้าเข้าสู่จุดเริ่มต้นของบรรทัด
โดยปกติแล้วแผ่นพาไพรัสม้วนหนึ่งมีความยาวประมาณ 20 ฟุต กว้าง 1 ฟุต เก็บรักษาด้วยการม้วนไว้ในกล่องดินเหนียว หรือโลหะทรงกระบอก แผ่นพาไพรัสที่ยาวที่สุดมีความยาวถึง 133 ฟุต มีชื่อว่า Harris Papyrus เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ในสมัยฟาโรห์รามเสสที่ 2 ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์อังกฤษ ส่วนแผ่นพาไพรัสที่เก่าแก่ที่สุดคือ Prisse Papyrus เป็นบันทึกสุภาษิตของปราชญ์ชาวอียิปต์ เขียนขึ้นเมื่อราว 2,800 ปีก่อนคริสตกาล ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศสกรุงปารีส
อ้างอิงรูปภาพจาก : http://realmetro.com/edwin-smith-papyrus/?fbclid=IwAR1YBdlkym0takzQvtcJYCUUGGvbyTlG-AbeDnTcGlGYWZCwt6c3l65zb00