ชาวจีนโบราณนิยมบันทึกเรื่องราวลงบนแผ่นไม้ไผ่ หรือผ้าไหมแต่เนื่องจากไม้ไผมีน้ำหนักมาก จึงไม่สะดวกต่อการใช้งาน และผ้าไหมมีราคาแพงเกินไป ตลอดจนมีจำนวนไม่เพียงพอแก่การบันทึกเรื่องราวที่มีความยาวมากๆได้
จวบจน ค.ศ. 105 (พ.ศ. 648) หนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ที่เปลี่ยนแปลงโลกได้ถือกำเนิดขึ้น เมื่อขุนนางจีนสมัยราชวงศ์ฮั่นนามว่า ไซลั่น (Ts’ai Lun) ปรับปรุงกรรมวิธีการผลิตและคัดสรรเส้นใยธรรมชาติจนผลิตเป็น “กระดาษ” ต้นแบบได้เป็นครั้งแรก
การประดิษฐ์คิดค้นดังกล่าวทำให้กระดาษกลายมาเป็นวัสดุสำคัญแห่งการบันทึก ส่งผลให้ตัวอักษรทวีพลังแห่งการสื่อสารมากยิ่งขึ้น รวบรวมสรรพวิชาอันหลากหลาย ถ่ายทอดภูมิปัญญาอันยิ่งใหญ่ที่คนโบราณได้บันทึกไว้จากรุ่นสู่รุ่น ต่อยอดความเจริญจนมาเป็นศิลปวิทยาการแขนงต่างๆ
กว่าจะมาเป็นกระดาษในวันนี้ ไซลั่นทดลองนำเปลือกไม้ เช่น เปลือกในของต้นหม่อน เศษเชือกปอ และเศษผ้ามาแช่ในน้ำ ใช้ตรกตำให้แหลกเป็นเยื่อละเอียด แล้วใช้ตะแกรงที่สานจากซี่ไม้ไผ่กรองเส้นใยเหล่านั้นมาตากแห้งให้เป็นแผ่นกระดาษต้นแบบ
แม้กระดาษทำด้วยมือในระยะแรกๆ จะเป็นกระดาษที่มีเนื้อบางมีผิวค่อนข้างหยาบ และเส้นใยยาว ก็ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาในการใช้งานแต่อย่างใด การบันทึกทำได้โดยใช้พู่กันและหมึกเขียนตัวหนังสือ ซึ่งสามารถเขียนได้เพียงหน้าเดียว
ราว ค.ศ. 950 (พ.ศ. 1493) ชาวจีนเริ่มรู้จักทำหนังสือให้มีลักษณะเป็นหนังสือพับ (Folder Book) ที่มีลักษณะทบไปมา ต่อมาจึงคิดวิธีทำหนังลือเย็บเล่ม (Stitch Book) ได้เป็นชาติแรกใน ค.ศ.1116 (พ.ศ.1659) โดยเย็บด้านหนึ่งให้ติดกันด้วยเชือก สามารถกางเปิดอ่านได้สะดวก