แนวโน้มการใช้เครื่องพิมพ์ดิจิทัลขยายตัวอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย มีผลทำให้การใช้โทนเนอร์และกระดาษพิมพ์เติบโตขึ้นเป็นเงาตามตัว ที่น่าสนใจคือ การเลือกใช้กระดาษพิมพ์ พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่ากระดาษพิมพ์ออฟเซ็ตกับกระดาษพิมพ์ดิจิทัลนั้นต่างกัน อาจใช้แทนกันได้ แต่ปัญหาสภาพเดินกระดาษคล่อง (runnability) มักเกิดขึ้นกับเครื่องพิมพ์ดิจิทัลโดยไม่คาดคิด รวมทั้งคุณภาพงานพิมพ์ก็ไม่เป็นไปตามที่ต้องการ เครื่องพิมพ์ดิจิทัลในที่นี้หมายถึง Inkjet Electrography หรือ Laser และเครื่องพิมพ์ Digital Offset เช่น Heidelberg Quickmaster, HP Indigo เป็นต้น
สมบัติของกระดาษพิมพ์ดิจิทัลที่ผู้ปฏิบัติงานควรทราบได้แก่
ความโค้งงอของกระดาษ (Curl) เป็นสมบัติที่ทำให้ทราบว่ากระดาษนั้นจะเคลื่อนที่ผ่านลูกกลิ้งต่าง ๆ ได้ในสภาพเดินกระดาษคล่องหรือไม่ ความโค้งงอเกิดจากการสูญเสียความชื้นของแผ่นกระดาษเมื่อเทียบกับความชื้นเดิมที่มีอยู่ ถ้าแตกต่างกันมาก จะทำให้กระดาษโค้งงอ เมื่อกระดาษวิ่งผ่านลูกกลิ้ง จะทำให้กระดาษยับและติดอยู่ในเครื่องพิมพ์ได้ นอกจากนี้โอกาสที่กระดาษจะเกิดโค้งงอได้มากหรือน้อยนั้น ยังขึ้นอยู่กับชนิดของเส้นใยอีกด้วย
การฉาบผิว (Surface Sizing) มักจะใช้แป้งเป็นหลักฉาบไปบนผิวหน้ากระดาษเพื่อป้องกันการดูดซึมของหมึกที่ผิวกระดาษมากเกินไป ทำให้คุณภาพของงานพิมพ์สวย แต่อาจมีผลกระทบต่อการยึดติดของโทนเนอร์หรือหมึกเหลวของอิงก์เจ็ตได้
ความเรียบ (Smoothness) หมายถึงลักษณะความขรุขระของผิวกระดาษ ที่จะช่วยให้การยึดติดของโทนเนอร์และหมึกแน่น และขณะเดียวกันให้คุณภาพงานพิมพ์ตามที่ต้องการ กระดาษที่มีความเรียบสูงจะทำให้ขอบภาพไม่แตกและมีความคมมากขึ้น ทำให้เห็นรายละเอียดของภาพได้ชัดเจน
ความขาวสว่าง (Brightness) เป็นการวัดปริมาณของแสงสีน้ำเงินที่สะท้อนและกระเจิงของออกจากแผ่นกระดาษ ถ้ากระดาษให้ค่าความขาวสว่างสูงมากเท่าใด ภาพพิมพ์ที่ได้จะมีการไล่น้ำหนักของสีดีขึ้น ความเปรียบต่างของภาพสูง รวมทั้งให้สีที่ถูกต้องมากขึ้น
ความแข็งตึงของแผ่นกระดาษ (Stiffness) หมายถึงแรงที่ต้านต่อการม้วนและการพับ ช่วยให้แผ่นกระดาษคงสภาพราบได้ดี ทั้ง ๆ ที่แผ่นกระดาษนั้นอาจจะมีค่าความโค้งงอสูงก็ตาม ช่วยให้สภาพคล่องการเดินกระดาษเป็นไปได้ดีในเครื่องพิมพ์
การกระจายตัวของเส้นใยในแผ่นกระดาษ (Formation) โดยปรกติแล้วกลุ่มเส้นใยจะกระจายตัวประสานกันให้เป็นแผ่น เกิดพันธะระหว่างกันสร้างความแข็งแรงขึ้น ดังนั้น ถ้าเส้นใยที่กระจายตัวสม่ำเสมอและมีความหนาแน่นสูง จะช่วยให้แผ่นกระดาษนั้นดูเรียบทึบทั่วทั้งแผ่น เมื่อมองส่องผ่านแสง ผลจะช่วยให้กระดาษมีความทึบแสงมากขึ้น ไม่เกิดซึมทะลุ (strike-through) เมื่อพิมพ์ด้วยหมึกเหลว พิมพ์ 2 ด้านได้ และภาพพิมพ์ไม่เกิดกระดำกระด่าง (mottling)
ความชื้น (Moisture) ในกระดาษพิมพ์ดิจิทัล จะกำหนดที่ 4-6 % ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่เหมาะสม ไม่ให้มากเกินไปที่ทำให้เกิดการโค้งงอเมื่อถูกความร้อนให้ระเหยออกไป แต่ถ้าค่าความชื้นต่ำกว่านี้ อาจก่อให้เกิดไฟฟ้าสถิตที่ผิวรกะดาษ ซึ่งอาจทำให้กระดาษโค้งงอได้เช่นกัน
ทิศทางของเกรนกระดาษ (Grain Direction) ขึ้นอยู่กับการเรียงตัวของเส้นใย ถ้าทิศทางกระดาษขนานกับการเรียงตัวของเส้นใยเรียกว่า ทิศทางตามเกรน หรือ MD(machine direction) และถ้าทิศทางนั้นขวางกับการเรียงตัวของเส้นใยเรียกว่า ทิศทางขวางเกรน หรือ CD (cross direction) การออกแบบจัดหน้างานพิมพ์ทำหนังสือที่ดี จะต้องให้แนวพับอยู่ในทิศทางตามเกรนเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดรอยแตกที่สันพับ
ขนาดกระดาษ
ขนาดกระดาษมาตรฐานสำหรับงานพิมพ์ดิจิทัลนั้น มักจะกำหนดเป็นขนาดที่ใช้งานได้ทันที ไม่มีการเจียน เรียกว่า cut-size papers มีหลายขนาด ได้แก่
- 8½” x 11” (A4)
- 8½” x 14”
- 11” x 17”
- 13” x 19” สำหรับเครื่องพิมพ์ Digital ส่วนใหญ่ในประเทศไทย เช่น HP Indigo Digital Press, Canon Image Press, Ricoh Pro เป็นต้น
- 14.25” x 20.33” สำหรับเครื่องพิมพ์ Fuji Xerox iGen3
- 19.7” x 27.9” (B2) สำหรับเครื่องพิมพ์ Sheet fed Digital Press รุ่นใหม่ๆ ตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา เช่น HP Indigo 10000, HP Indigo 30000, Fujifilm Jet Press 720s เป็นต้น
กระดาษเหล่านี้จะออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อให้ได้สมบัติสภาพเดินกระดาษคล่อง มีการเคลือบผิวพิเศษเพื่อปรับปรุงความเรียบ ให้ความทึบแสงสูงสำหรับการพิมพ์ 2 ด้าน สำหรับกระดาษพิเศษจะให้ความขาวสว่างสูงถึง 98%
อนึ่งผู้ประกอบการควรพิจารณาสมบัติดังกล่าวในการเลือกใช้กระดาษพิมพ์ ถามว่าค่าสมบัติเหล่านี้ได้มาจากไหน ซึ่งสามารถขอข้อมูลได้จากผู้ผลิตกระดาษ หรือหน่วยงานที่มีเครื่องมือวัด เมื่อได้ค่าเหล่านี้แล้ว ให้ทำการทดสอบนำไปพิมพ์ พิจารณาค่าที่เหมาะสมที่ให้คุณภาพงานพิมพ์ตามต้องการ และเครื่องพิมพ์ไม่ติดขัด
ขอขอบคุณข้อมูลจาก อ.อรัญ หาญสืบสาย