การเกิดไฟฟ้าสถิตในกองกระดาษพิมพ์เป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่กระดาษนั้นสามารถทำให้เกิดขึ้นเองได้ด้วยตัวเอง เป็นสาเหตุให้แผ่นกระดาษซ้อนติดกันในระหว่างการป้องกระดาษ หรือด้วยสมบัติของประจุไฟฟ้าสถิตเอง ที่สามารถทำให้เศษฝุ่นผงที่กระจายโดยรอบของเครื่องพิมพ์ถูกดูดไปเกาะที่ผิวแผ่นกระดาษนั้น มีผลให้งานพิมพ์เกิดรอยจุดขาวเล็กๆ กระจายไปทั่วบนภาพพิมพ์ ซึ่งเห็นได้ชัดในส่วนพิมพ์พื้นทึบ ที่น่าสนใจคือ ฝุ่นผงเหล่านี้จะเคลื่อนย้ายได้ไปรวมตัวกับหมึกพิมพ์ในระบบ เกิดการเปลี่ยนแปลสภาพการไหลและแห้งตัวช้าลง
ความหมาย
ไฟฟ้าสถิตคือ สภาวะของผิววัตถุหนึ่งที่อิเล็กตรอน (ประจุ) ไม่มีการเคลื่อนที่หรือการไหลเกิดขึ้น แต่ถ้ามีสิ่งใดที่มีสมบัติเหมือนกันมาสัมผัส และมีการขัดสีเกิดขึ้น อาจทำให้อิเล็กตรอนกระโดดข้ามระหว่างผิวได้ เกิดความเป็นประจุไฟฟ้าสถิตบวกและลบบนผิววัตถุทั้งสองขึ้นตัวอย่างที่เราคุ้นเคยคือการใช้หวีพลาสติกหวีผมแห้ง หลังจากนั้นทั้งหวีและผลต่างก็จะมีประจุเกิดขึ้น สามารถดูดฝุ่นหรือขนบางๆ และทำให้เส้นผลกระเจิงได้ เป็นต้น
วัตถุที่จะเกิดไฟฟ้าสถิตได้นี้ จะต้องเป็นวัตถุที่มีสมบัตินำไฟฟ้าได้น้อยหรือไม่นำไฟฟ้าเลย (non-conductive materials) เท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดการไหลของอิเล็กตรอนภายในตัววัตถุเกิดขึ้น และพบว่าเส้นใยเซลลูโลสในแผ่นกระดาษมีโอกาสเกิดไฟฟ้าสถิตได้ ถ้าอยู่ในสภาพแห้งหรือความชื้นน้อยๆ โดยปกติกระดาษพิมพ์จะถูกควบคุมให้มีคามชื้นที่ประมาณ 8-10 %ไม่ให้ต่ำกว่านี้ เพราะไม่ต้องการให้เกิดไฟฟ้าสถิตที่ผิวกระดาษ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสกันของแผ่นกระดาษและมีสิ่งกระตุ้นเช่นน้ำหนักของกองกระดาษ หรือการเสียดสี ผลจะทำให้กระดาษทั้งสองแผ่นมีประจุไฟฟ้าสถิตตรงกันข้ามกันเกิดขึ้น และเกาะติดกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กระดาษพิมพ์ที่มีแนวโน้มเกิดไฟฟ้าสถิตได้ง่าย มักจะเป็นกระดาษเคลือบผิว ขนาดแผ่นใหญ่ น้ำหนักเบา และผิวเรียบ
การป้องกันปัญหาไฟฟ้าสถิตในกองกระดาษ
สิ่งกระตุ้นที่ทำให้กระดาษมีโอกาสในการเกิดไฟฟ้าสถิตได้นั้นที่สำคัญได้แก่ ความชื้นสัมพันธ์ในห้องพิมพ์ต่ำ ความเย็นที่ผิวกระดาษและกองกระดาษสูงๆ ปัจจุบันมีอุปกรณ์ Electro-static locator meters ช่วยวัดปริมาณไฟฟ้าสถิตของกองกระดาษ แต่ถ้าไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าวแนะนำให้ดึงกระดาษประมาณ 30 แผ่น ออกจากกองกระดาษก่อนจากนั้นให้ลองขยับเลื่อนกระดาษแผ่นบนไปมา ถ้ารู้สึกฝืดๆ แสดงได้ว่ามีไฟฟ้าสถิตเกิดขึ้นในกองกระดาษ
การป้องกันคือ การต่อสายไฟฟ้าลงดินของเครื่องพิมพ์ และการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นในห้องเก็บกระดาษและห้องพิมพ์ให้เหมาะสม (มาตรฐานกำหนดที่ 23-25 °c, RH 50%) รวมทั้งกองกระดาษไม่ให้สูงเกินไป และก่อนตั้งกองกระดาษ ควรทำการจ๊อกกระดาษก่อน เพื่อทำการคลี่กระดาษออกจากกัน เป็นการทำลายไฟฟ้าสถิตไปในตัว นอกจากนี้ บางเครื่องพิมพ์ยังออกแบบให้มีอุปกรณ์กำจัดไฟฟ้าสถิตของแผ่นกระดาษที่หน่วยป้อนกระดาษก่อนทำการพิมพ์อีกด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก อ.อรัญ หาญสืบสาย