โรงพิมพ์ในประเทศไทยโดยเฉพาะโรงพิมพ์ขนาดเล็กและกลาง ส่วนใหญ่ยังคงใช้น้ำมันเบนซิน (gasoline) เช็ดหมึกบนผ้ายาง และน้ำมันก๊าด (kerosene / paraffin) ล้างลูกกลิ้งหมึก โดยทั้งสองชนิดต่างก็เป็นสารประเภทไอระเหยง่าย (VOCs) และมีอันตราย การหายใจเอาเบนซินเข้าไปในร่างกาย เป็นเหตุให้ เซื่องซึม วิงเวียนศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น และหมดสติ แต่ถ้าได้รับต่อเนื่องเป็นเวลานานๆจะมีผลต่อเลือด ทำให้จำนวนเม็ดเลือดแดงลดลง เป็นต้นเหตุของโรคโลหิตจาง (anemia) และทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
สำหรับน้ำมันก๊าด เป็นน้ำมันที่มีส่วนผสมของสารไฮโดรคาร์บอนที่มีจุดเดือดตั้งแต่ 150-300 °C ได้แก่ พาราฟิน แนฟธา และแอโรมาติกส์ (เบนซิน) ในอัตราส่วนต่างๆกัน แล้วแต่ที่มาของน้ำมันดิบ ถือว่าเป็นสาร VOCs ที่ร้ายแรงไม่ต่างไปจากน้ำมันเบนซิน เนื่องจากมีปริมาณของแอโรมาติกส์สูง การหายใจเข้าไปจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบหายใจ เกิดอาการไอ หายใจถี่รัว วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อ่อนเพลียกระสับกระส่าย และอาการเซื่องซึม ถ้าสัมผัสผิวหนังอาจก่อให้เกิดอาการผื่นแดง อาการคัน และผิวหนังอักเสบได้ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล
โรงพิมพ์ที่หลายแห่งได้เปลี่ยนไปใช้ น้ำมันไวท์สปิริต (white spirit) ซึ่งพบว่าเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนเช่นเดียวกับน้ำมันก๊าด แต่มีส่วนผสมของแอโรมาติกส์ไม่เกิน 25% มี 3 เกรดให้เลือก ตั้งแต่ค่าจุดวาบไฟ (flash point) ต่ำ (21-30 °C) ปานกลาง (31-54 °C) ถึงจุดวาบไฟสูง (>55 °C) ในกระบวนการผลิตอาจมีการสกัดสารประกอบซัลเฟอร์ออก เพื่อลดกลิ่นให้น้อยลง มีรายงานว่าผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ได้รับสาร VOCs นี้ ก็ยังมีเช่นเดียวกับน้ำมันก๊าด แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า
ในปัจจุบันมีการพัฒนาน้ำยาเคมีเพื่อการทำความสะอาดหมึกพิมพ์ ที่เป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งมีความปลอดภัย ทั้งต่อผู้ใช้งานและสิ่งแวดล้อม โดยจะไม่มีสารโลหะหนัก และ Low-VOCs แต่ยังคงประสิทธิภาพการทำความสะอาดได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ลดต้นทุนในส่วนของงานซ่อมบำรุงเครื่องพิมพ์และอุปกรณ์ เหมาะกับธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือผลิตภัณฑ์สีเขียว (Green Products)
อ้างอิงรูปภาพจาก : http://www.tbsfiltersupply.com/en/products-detail.php?did=224