การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตสิ่งพิมพ์และกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงการใช้พลังงานการขนส่งและการกำจัด ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตบนโลก นับวันปัญหาดังกล่าวก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ก๊าซเรือนกระจกในที่นี้ประกอบด้วยก๊าซ 6 ชนิด ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีเทน(CH4) ไนตรัสออกไซด์ (N2O) ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs ) เพอร์ฟลู-ออโรคาร์บอน (PFCs) และซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6)
ในทางปฏิบัติ การทำการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะแปลงค่าก๊าซทั้งหก ให้อยู่ในรูปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (Carbon dioxide equivalent, CO2e) ทำให้ค่าที่ได้เรียกว่า คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) โดยแนวทางและหลักเกณฑ์การประเมินได้พัฒนาขึ้นโดยคณะกรรมการเทคนิคด้านคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของประเทศไทย ภายใต้การดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (มหาชน) และศูนย์เทคโนโลยี โลหะและวัสดุแห่งชาติ ซึ่งได้มีการจัดทำข้อกำหนดเฉพาะของผลิตภัณฑ์ (Product Category Rules: PCRs) สำหรับสิ่งพิมพ์ไว้แล้ว ใช้หลักการการประเมินตลอดวัฏจักรชีวิตของสิ่งพิมพ์ (Lifecycle Assessment: LCA) ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบกระบวนการผลิต การใช้งานและการกำจัดเศษซากผลิตภัณฑ์หลังการใช้งาน
รูปแบบการประเมิน
การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์สิ่งพิมพ์นี้ จะใช้รูปแบบ Business-to-Consumer (B2C) กำหนดขอบเขตดังรูปที่ 1 การพิจารณาแบ่งออกได้ 3 ส่วน ดังนี้
- ต้นน้ำ (upstream) ครอบคลุมการได้มาของวัตถุดิบ (procurement) ก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิต เช่น กระดาษ หมึกพิมพ์ แม่พิมพ์ น้ำยาเคมี รวมถึงการขนส่ง
- ขั้นตอนการผลิต (production) ตั้งแต่การออกแบบ ทำแม่พิมพ์ พิมพ์ งานหลังพิมพ์ การบรรจุ และการจัดส่ง
- ปลายน้ำ (downstream) หมายถึง การใช้งาน การกำจัด (disposal) และการเวียนทำใหม่ (recycle)
การจัดเก็บข้อมูลแบ่งออกเป็นข้อมูลปฐมภูมิ (primary data) ที่ได้จากการสังเกตุและวัดในโรงพิมพ์โดยตรง กับข้อมูลทุติยภูมิ (secondary data) เป็นค่าสัมประสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละองค์ประกอบที่อยู่ในขอบเขตการผลิตสิ่งพิมพ์นั้นๆ ซึ่งค่าที่ได้จะมาจากแหล่งข้อมูลอื่นที่น่าเชื่อถือ เช่น ฐานข้อมูลสิ่งแวดล้อมของวัสดุพื้นฐานและพลังงานของประเทศไทย หรือข้อมูลที่ตีพิมพ์โดยองค์กรระหว่างประเทศ
ตัวอย่างข้อมูลปฐมภูมิ ได้แก่ ปริมาณการใช้กระดาษ หมึกพิมพ์ แม่พิมพ์ การใช้ไฟฟ้าในงานก่อนพิมพ์ บนแท่นพิมพ์ และขั้นตอนการทำเล่ม ระยะทางในการขนส่ง
การคำนวณหาค่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนฟุตพริ้นท์ สิ่งพิมพ์ จะนำข้อมูลปฐมภูมิและทุติยภูมิของแต่ละองค์ประกอบที่ได้คูณกัน แล้วนำไปรวมกันเป็นค่าปริมาณรวมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดังตัวอย่างค่าแสดงในตารางที่ 1 เป็นหนังสือเรียนเล่มหนึ่ง หนา 120 หน้า จำนวน 500 เล่ม เนื้อในกระดาษปอนด์พิมพ์ขาว-ดำ ปกพิมพ์ 4 สี ด้วยกระดาษอาร์ตมัน จากโรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตารางที่ 1 ข้อมูลแสดงสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของหนังสือเรียนเล่มหนึ่งจากโรงพิมพ์แห่งจุฬาฯ
ขั้นตอน |
ปัจจัย |
ค่าสัมประสิทธิ์ CO2e |
% |
รวมปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 |
% |
การจัดหาวัสดุพิมพ์ และการใช้ (Procurement) |
กระดาษปก | 0.64 kgCO2/kg |
2.3% |
297.171 kg |
43.6% |
กระดาษเนื้อใน |
0.98 kgCO2/kg |
19.5% |
|||
หมึกพิมพ์ |
2.57 kgCO2/kg |
0.9% |
|||
น้ำยาเฟาว์เทน |
0.20 kgCO2/kg |
0.0% |
|||
IPA |
2.13 kgCO2/kg |
0.0% |
|||
แม่พิมพ์ |
12.5 kgCO2/kg |
20.9% |
|||
การผลิต – ใช้กระแสไฟฟ้า (Production) |
การทำแม่พิมพ์ |
0.43 kgCO2/kw |
10.1% |
340.556 kg |
50.0% |
ออกแบบ จัดหน้า ปรู๊ฟ |
0.43 kgCO2/kw |
17.1% |
|||
พิมพ์ | 0.43 kgCO2/kw |
10.8% |
|||
ทำเล่ม |
0.43 kgCO2/kw |
11.7% |
|||
เคลือบปก อายมันยูวี |
0.43 kgCO2/kw |
0.3% |
|||
การจัดส่ง (Delivery) |
การจัดส่ง-รถบรรทุก 4 ล้อ 7ตัน 50% load | 0.28 ton-CO2/ km |
0.1% |
0.792 kg |
0.2% |
การกำจัดและเวียนทำใหม่(Disposal&Recycle) |
การฝังกลบ |
2.93 kgCO2/kg |
5.0% |
42.509 kg |
6.2% |
เวียนทำใหม่(กระดาษ) |
0.17 kgCO2/kg |
0.9% |
|||
เวียนทำใหม่(แม่พิมพ์) |
3.16 kgCO2/kg |
0.4% |
|||
รวม(kg–CO2): |
681.028 kg |
100.0% |
|||
ต่อ เล่ม(kg-CO2): |
1.36 |
หนังสือเล่มนี้ให้ค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 1.36 kg-CO2 ต่อหนังสือ 1 เล่ม จากข้อมูลที่ได้จะเห็นว่า ขั้นตอนการผลิตจะให้ผลกระทบมากที่สุดถึงร้อยละ 50.0 โดยเฉพาะในส่วนของงานออกแบบและการปรู๊ฟ คิดเป็นร้อยละ 17.1 ที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ แสงสว่าง และเครื่องปรับอากาศในห้องทำงาน รวมทั้งเวลาที่ต้องใช้ทำงานหลายชั่วโมง ในขณะที่ขั้นตอนการทำแม่พิมพ์ ขั้นตอนพิมพ์ และการทำเล่ม ให้ผลพอๆกันไม่แตกต่างกัน ให้ค่าระหว่างร้อยละ 10-12
ที่น่าสนใจ ขั้นตอนการจัดหาและการใช้วัสดุพิมพ์ก็ให้ผลกระทบต่อปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่น้อยเช่นกัน สูงถึงร้อยละ 43.6 ซึ่งกระดาษพิมพ์เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด รวมกันทั้งกระดาษปกและเนื้อในคิดเป็นร้อยละ 21.8 รองลงมาที่ให้ผลกระทบใกล้เคียงกันคือแม่พิมพ์ อยู่ที่ร้อยละ 20.1
ดังนั้น การดำเนินงานเพื่อลดค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของสิ่งพิมพ์ จึงเป็นหน้าที่ของโรงพิมพ์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้แก่ โรงงานทำกระดาษ หมึกพิมพ์และสารเคลือบ รวมถึงผู้บริโภคสิ่งพิมพ์ที่จะร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ที่น่าสนใจคือ คาร์บอนฟุตพริ้นท์นี้ ยังเป็นกลไกทางการตลาดในการกระตุ้นให้ผู้ผลิตพัฒนาสิ่งพิมพ์ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย