สถาบันไพรา (PIRA) จากประเทศอังกฤษได้รายงานสถานภาพของการพิมพ์โลกในปี 2559 ที่ผ่านมาว่า มูลค่าการผลิตสิ่งพิมพ์ของโลกอยู่ที่ 844 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 6.7 % จาก 791 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2554 โดยในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นมาจากมูลค่าตลาดฉลากและบรรจุภัณฑ์ที่ขยายตัวอย่างชัดเจน(ดังรูปที่ 1) ทำให้เห็นถึงทิศทางโอกาสของตลาดงานพิมพ์ในอีกหลายปีข้างหน้า มูลค่าสัดส่วนดังกล่าวซึ่งสูงถึง 365 พันล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่ามูลค่าตลาดงานพิมพ์คอมเมอเชียลมากกว่าเท่าตัว เมื่อพิจารณารายละเอียดของกลุ่มตลาดบรรจุภัณฑ์จะเห็นว่า ตลาดใหญ่สุดคือ ตลาดสุขภาพ รองลงมาเป็นอาหารและเครื่องดื่ม แต่ถ้านับมูลค่าของตลาดอาหารและเครื่องดื่มรวมกันแล้วจะได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าทั้งหมด และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งตลาดถ้วยชา-กาแฟ ทั้งที่ทำด้วยกระดาษและพลาสติก ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด
ในประเทศไทยในธุรกิจร้านชากาแฟ เป็นไปตามสัดส่วนประเภทวัสดุต่าง ๆ ที่ใช้ในการทำบรรจุภัณฑ์ของโลกในปี 2559 ที่ร้อยละ 31 ยังใช้กระดาษอยู่ และร้อยละ 27 ใช้พลาสติก แต่สำหรับถ้วยแก้วพลาสติกนั้น ได้เริ่มมีการใช้พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ที่ทำมาจากพืชในประเทศไทยกันแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
การพิมพ์ถ้วย Cup Printing
การพิมพ์ถ้วยกระดาษหรือพลาสติกในประเทศส่วนใหญ่จะเป็นระบบพิมพ์ดรายออฟเซต ซึ่งเครื่องมีขนาดใหญ่ ทำงานอัตโนมัติ ออกแบบมาโดยเฉพาะให้มีหน่วยป้อนถ้วยที่ขึ้นรูปแล้ว ใช้หมึกที่แห้งตัวด้วยรังสียูวี ให้สีสัน ลวดลายหลากหลาย งานพิมพ์คุณภาพดี นอกจากนี้ยังมีระบบเฟล็กโซกราฟีที่ออกแบบมาพิมพ์บรรจุภัณฑ์ประเภทนี้อีกด้วย สำหรับจำนวนงานไม่มากและพิมพ์ทีละถ้วย จะใช้ระบบพิมพ์สกรีน หรือระบบแพด (pad printing) เข้ามาช่วย กรณีพิมพ์กระดาษเป็นแผ่น แล้วมาขึ้นรูปทีหลังนั้น สามารถใช้ระบบพิมพ์ออฟเซต หรือเฟล็กโซ กราฟี ก็ได้
อย่างไรก็ตาม ผู้พิมพ์ถ้วยประเภทเครื่องดื่มนี้ ควรคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคด้วย เช่น หมึกพิมพ์ที่ไม่ซึมผ่านเนื้อถ้วย และไม่หลุดติดมือขณะถือ หรือละลายเมื่อได้รับความชื้น เป็นต้น
การพิมพ์ถ้วยด้วยระบบพิมพ์แพด
Pad printing system
เครื่องพิมพ์เฟล็กโซกราฟี แบบ Stack type พิมพ์ม้วนตัดเป็นแผ่น แล้วขึ้นรูปถ้วยทีหลัง
Stack-type flexography machine for paper printing prior to molding