บทบาทและแนวโน้มของบรรจุภัณฑ์ประเภทกระดาษเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคและสภาพสังคมของโลกเป็นตัวกำหนดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งสำคัญคือการรักษาสิ่งแวดล้อม และการใช้ทดแทนวัสดุอื่น เช่น พลาสติก กระป๋อง และขวดแก้ว รวมทั้งลักษณะพิเศษต่าง ๆ ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ดังจะเห็นได้จากข้อกำหนดอียู (EU requirement) ที่ให้เจ้าของผลิตภัณฑ์ต้องใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษที่ทำมาจากเยื่อเวียนใหม่ (recycle fibres) เท่านั้น สอดคล้องกับเยื่อเวียนใหม่เหล่านี้ที่ได้รับการพัฒนาและการปรับปรุงในกระบวนการผลิตมาโดยตลอด โดยเฉพาะคุณภาพและสมบัติต่าง ๆ เชิงกายภาพและเคมีที่บรรจุภัณฑ์ต้องการ ผ่านเทคโนโลยีการดัดแปรเส้นใย (fibre modification technology) ในโรงงานผลิตเยื่อเวียนใหม่จากกระดาษแข็งและหนังสือพิมพ์ ซึ่งปัจจุบันเยื่อประเภทนี้มีหลายเกรดคุณภาพให้เลือกตามความต้องการของโรงพิมพ์ ตัวอย่างกระดาษรูปแบบใหม่ที่ใช้เยื่อเวียนใหม่ 100% และกำลังได้รับความนิยมในยุโรปและอีกหลาย ๆ ประเทศ ได้แก่ กระดาษ RFID (paper-based RFID tags) กระดาษอัดขึ้นรูป (moulded paper) ขวดเครื่องดื่ม (green bottle) กระดาษกันซึมน้ำมัน (oil barrier paper) เป็นต้น
RFID (Radio Frequency Identification) เป็นอุปกรณ์รับส่งสัญญาณคลื่นวิทยุ ประกอบด้วยเสาอากาศ (antenna) วงจรไฟฟ้า และชิบ (chip)เพื่อใช้บันทึกและแสดงข้อมูล ผ่านตัวอ่าน (reader) ใช้กับบรรจุภัณฑ์ประเภทขนส่งสินค้า ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้รับสินค้าระหว่างทางและปลายทาง ด้วยข้อมูลที่สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ เช่น ที่มาของวัตถุดิบ วันที่ผลิต บริษัทผู้ผลิต กระบวนการผลิต คุณภาพ ราคา ฯลฯ อุปกรณ์เหล่านี้จะแทรกซ้อนไปที่เนื้อกระดาษ ส่วนใหญ่เป็นชิ้นฉลาก (tags/labels) นำไปติดที่ข้างกล่องต่างหาก หรือจะติดอุปกรณ์ RFID แทรกอยู่ในเนื้อแผ่นกระดาษก็มี
RFID ข้างกล่อง (RFID on box)
กระดาษชนิดนี้ทำมาจากเยื่อเวียนใช้ใหม่ 100% นำไปอัดขึ้นรูปใช้ทำถาด จาน ถ้วย แก้ว แทนวัสดุเดิมที่เป็นพอลิสไตรีน (polystyrene), PET และโฟม ข้อดีคือ น้ำหนักเบา ราคาถูก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้ความเรียบและสมบัติกันซึมความชื้นได้มากกว่ากระดาษที่ใช้เยื่อดั้งเดิม และสามารถนำไปผลิตเยื่อเวียนใช้ใหม่ซ้ำได้อีกด้วย
ถาดกระดาษอัดขึ้นรูป (Moulded paper trays)
ประเทศอังกฤษเริ่มใช้ขวดนมที่ทำมาจากกระดาษเป็นครั้งแรก ด้วยการใช้เทคโนโลยีกระดาษอัดขึ้นรูป เพื่อใช้ทดแทนขวดพลาสติกที่ทำมาจาก HDPE (high density polyethylene) ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานถึง 500 ปี ในการย่อยสลายแบบฝังกลบ รวมทั้งกล่องกระดาษแข็ง (cardboard cartons) บรรจุเครื่องดื่มและนมทั่วไป ก็สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน เพราะกระดาษแข็งเหล่านี้มาจากการลามิเนตกระดาษสลับกับแผ่นพลาสติก PE (polyethylene) กันหลายชั้น และมีชั้นอลูมิเนียมแทรกเข้าไปอยู่ด้วย ทำให้การกำจัดย่อยสลายตามธรรมชาติยิ่งยากขึ้นตามลำดับ ในขณะที่ขวดกระดาษมี 2 ชั้น เท่านั้น คือ ชั้นกระดาษหนาภายนอกเคลือบด้วยชั้นพลาสติกบางภายในสำหรับสัมผัสกับเครื่องดื่ม มีความแข็งแรงที่สามารถคงรูปได้ ต้นทุนต่ำ ใช้แล้วสามารถนำไปเวียนใช้ใหม่ซ้ำได้ถึง 5 ครั้ง และย่อยสลายได้ตามธรรมชาติไม่เกิน 5 สัปดาห์ ส่วนชั้นพลาสติกบางที่ไม่ได้ย่อยสลาย แทบไม่มีผลต่อเท่าใดนัก เนื่องจากมีสัดส่วนปริมาตรไม่เกินร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับปริมาตรของขวด ปัจจุบันหลายประเทศในยุโรปได้ใช้ขวดกระดาษประเภทนี้ นำไปบรรจุเครื่องดื่มประเภทต่าง ๆ เช่น นม โยเกิรต น้ำ รวมทั้งทำเป็นขวดแชมพู ครีมบำรุงผิว สบู่เหลว และน้ำมันเครื่อง เป็นต้น
กระดาษกันซึม
กระดาษประเภทนี้มีน้ำหนักต่าง ๆ กัน ใช้เยื่อเวียนใช้ใหม่และมีการเคลือบผิวด้วยเรซินพิเศษเช่น อนุพันธ์อะคริเลตฐานน้ำ ที่ทำให้กระดาษนั้นมีสมบัติด้านการซึมผ่านของน้ำมันและไขมันได้ดี รวมทั้งย่อยสลายได้ สามารถใช้ทดแทนกล่องพับใส่อาหาร ขนม ถุงพลาสติกอ่อนตัวใส่เนื้อและเครื่องปรุงต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันในอเมริกาและยุโรปนิยมใช้กระดาษประเภทนี้กันมากขึ้น
กล่องใส่อาหารกันซึมน้ำมัน (oil barrier folding carton)
ขอขอบคุณข้อมูลจาก อ.อรัญ หาญสืบสาย